วันเสาร์ที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

นิทานพื้นบ้าน

                                 

                        นิทานพื้นบ้าน

รวมนิทานพื้นบ้านมากมายไว้ที่นี้ อ่านง่ายพร้อมภาพประกอบ รวมนิทานพื้นบ้าน 4 ภาค นิทานพื้นบ้านภาคใต้ ภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง นิทานพื้นบ้านเรื่องสั้นและเรื่องยาว

  •  นิทานพื้นบ้านภาคเหนือ เรื่องลิลิตรพระลอ 
ลิลิตพระลอ เป็นนิยายท้องถิ่นของไทยภาคเหนือ เข้าใจกันว่าเป็นเรื่องจริง ในหลักฐานพงศาวดารกล่าวว่า พระลอเป็นคนสมัยเดียวกับท้าวฮุ่ง จึงสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นระหว่าง พ.ศ.๑๖๑๖-๑๖๙๓ และยังสันนิษฐานกันว่า เมืองสรองคงจะเป็นตอนเหนือของอำเภอร้องกวาง จังหวัดแพร่ ส่วนเมืองสรวงคงจะเป็นเขตอำเภอแจ้ห่ม จังหวัดลำปาง
ลิลิตพระลอ เป็นวรรณคดีสำคัญอีกเรื่องหนึ่งของไทย วรรณคดีสโมสรยกย่องให้เป็นยอดวรรณคดีประเภทลิลิต ไม่ทราบว่าใครเป็นผู้แต่งและแต่งเมื่อใด มีผู้สนใจศึกษาค้นคว้าหาหลักฐานเกี่ยวกับผู้แต่งและระยะเวลาในการแต่ง แต่ยังหาข้อยุติไม่ได้ว่าแต่งในสมัยใด ระหว่างสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ หรือสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช มีเนื้อหาดังนี้…
ท้าวแมนสรวงเป็นกษัตริย์ของเมืองแมนสรวง พระองค์มีพระมเหสีทรง พระนามว่า “นาฏบุญเหลือ” ทั้งสองพระองค์มีพระโอรสมีพระนามว่า “พระลอดิลกราช” หรือเรียกกันสั้นๆว่า “พระลอ” มีกิตติศัพท์เป็นที่ร่ำลือกันว่าพระองค์นั้นทรงเป็นชายหนุ่มรูปงามไปทั่วสารทิศจนไปถึงเมืองสรอง ( อ่านว่า เมืองสอง ) ซึ่งเป็นเมืองที่ถูกปกครองโดยท้าวพิชัยวิษณุกร พระองค์มีพระนามว่า “พรดาราวดี” และพระองค์ทรงมีพระธิดาผู้เลอโฉมถึงสองพระองค์พระนามว่า “พระเพื่อน” และ “พระแพง” พระเพื่อนและพระแพงได้ยินมาว่าพระลอเป็นชายหนุ่มรูปงาม ก็ให้ความสนใจยากจะได้ยล
พี่เลี้ยงของพระเพื่อนและพระแพงคือนางรื่น และนางโรยสังเกตเห็นความปราถนาของนายหญิงของตนก็เข้าใจในพระประสงค์ สองพี่เลี้ยงจึงอาสาจะจัดการให้นายของตนนั้นได้พบกับพระลอ โดยการส่งคนไปขับซอในนครแมนสรวง และในขณะที่ขับซอนั้นจะไห้นักดนตรีพร่ำพรรณนาถึงความงามของเจ้าหญิงทั้งสอง ในขณะเดียวกันนั้นพี่เลี้ยงทั้งสองก็ได้ไปหาปู่เจ้าสมิงพราย เพื่อที่จะให้ช่วยทำเสน่ห์ให้พระลอหลงใหลในเจ้าหญิงทั้งสอง
เมื่อพระลอต้องมนต์ก็ทำใคร่อยากที่จะได้ยลพระเพื่อนและพระแพงเป็นยิ่งนัก พระองค์เกิดความคลั่งไคล้ไหลหลงจนไม่เป็นอันทำอะไรแม้แต่กระทั่งเสวยพระกระยาหาร พฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของพระองค์ ได้ทำให้พระราชชนนีสงสัยว่าจะมีผีมาเข้ามาสิงสู่อยู่ แต่ถึงแม้ว่าจะหาหมอผีคนไหนมาทำพิธีขับไล่ก็ไม่มีผลอันใด พระลอก็ยังคงมีพฤติการณ์อย่างเดิมอยู่ เพื่อที่จะได้ยลเจ้าหญิงทั้งสอง พระลอจึงทูลลาพระราชชนนีออกประพาสป่า แต่จุดประสงค์ที่แท้จริงก็คือเพื่อที่จะได้ไปยลเจ้าหญิงแห่งเมืองสรองนั่นเอง จากนั้นพระลอก็ออกเดินทางมุ่งหน้าสู่เมืองสรองพร้อมคนสนิทอีก 2 คน คือ นายแก้วกับนายขวัญ พร้อมกับไพร่พลอีกจำนวนหนึ่ง ทั้งหมดต้องเดินผ่านป่าผ่าดงจนกระทั่งมาพบแม่น้ำสายหนึ่งมีชื่อว่า “แม่น้ำกาหลง”
และที่แม่น้ำกาหลงนี้เอง ที่พระลอได้ตั้งอธิฐานเสี่ยงน้ำเพื่อตรวจดูดวงชะตาของพระองค์เอง ทันทีที่ได้สิ้นคำอธิษฐานนั้น แม่น้ำก็เปลี่ยนเป็นสีแดงเลือดในทันทีและไหลเวียนวนผิดปกติ เมื่อพระลอเห็นดังนั้นก็รู้ได้ว่าจะมีเรื่องร้ายรออยู่เบื้องหน้าของพระองค์ แต่ก็ไม่ได้ทำให้พระองค์เกิดความย่อท้อที่จะได้พบกับเจ้าหญิงที่พระทัยของพระองค์เรียกร้องแต่อย่างใด ถึงแม้ว่าพระองค์นั้นจะไม่เคยพบนางเลย แต่พระองค์คลั่งไคล้ไหลหลงในตัวนางทั้งสองเป็นยิ่งนัก…ส่วนเจ้าหญิงทั้งสองรอการเดินทางมาของเจ้าชายรูปงามไม่ได้ และเกรงว่ามนต์เสน่ห์ของปู่เจ้าสมิงพรายจะไม่เห็นผล จึงได้ขอร้องให้ปู่เจ้าสมิงพรายช่วยเหลืออีกครั้ง โดยให้ช่วยเนรมิตไก่งามขึ้นตัวหนึ่งให้มีเสียงขันที่ไพเราะ ทั้งสองพระองค์คิดว่าไก่ตัวนั้นจะต้องทำให้พระลอสนพระทัยและติดตามาจนถึงเมืองสรองอย่างแน่นอน
และแล้วเหตุการณ์ก็เป็นไปตามที่เจ้าหญิงสองคาดไว้ พระลอได้ตามไก่เนรมิตไปจนถึงพระราชอุทยาน และได้พบกับเจ้าหญิงทั้งสองซึ่งกำลังทรงสำราญอยู่ ในทันทีที่ทั้งสามได้พบกันก็เกิดความรักใคร่กันในบัดดล และก็เป็นเวลาเดียวกับที่นายแก้วกับนายขวัญ ได้ตกหลุมรักของนางรื่นและนางโรยผู้ซึ่งเปิดหัวใจต้อนรับชายหนุ่มทั้งสองโดยไม่รีรอเช่นกัน ปรากฏว่าพระลอและบ่าวคนสนิทของพระองค์ลักลอบเข้าไปอยู่ในพระตำหนักชั้นใน ซึ่งเป็นที่ประทับของเจ้าหญิงทั้งสอง…อย่างไรก็ตาม ความลับนี้ได้ถูกเปิดเผยเข้าจนได้ …เมื่อข่าวได้ไปถึงพระกรรณของพระราชาจึงได้เสด็จมาไต่สวนในทันที และเมื่อพระลอกราบทูลให้ทรงทราบเรื่อง พระองค์ก็ทรงกริ้วเป็นยิ่งนัก แต่ก็ทรงเข้าพระทัยในความรักของคนทั้งสาม และทรงพระเมตตารับสั่งจะจัดการอภิเษกพระลอกับพระเพื่อนและพระแพงให้ทันที
แต่พระเจ้าย่าของพระเพื่อนพระแพงนั้นยังทรงพยาบาทพระลอ อ้างรับสั่งท้าวพระพิชัยวิษณุกรตรัสสั่งว่าให้นำทหารไปรุมจับพระลอ พระเพื่อนพระแพงและพี่เลี้ยงอาไว้ …ในขณะที่พระลอกับไพร่พลได้ต่อสู้เอาชีวิตรอด พระเจ้าย่าก็สั่งให้ทหารระดมยิงธนูเข้าใส่ ลูกธนูที่พุ่งเข้าหาพระลอและไพร่พลประดุจดังห่าฝนก็ไม่ปานจึงทำให้ไม่อาจจะต้านทานไว้ได้อีกต่อไป และเพื่อที่ปกป้องชีวิตของชายคนรัก พระเพื่อนกับพระแพงจึงเข้าขวางโดยใช้ตัวเองเป็นโล่กำบังให้พระลอ สุดท้ายพระลอพระเพื่อน พระแพง และพี่เลี้ยงทั้งสี่ช่วยกันต่อสู้จนสิ้นชีวิตทั้งหมด …ทันใดนั้นทั้งสองเมืองก็ต้องตกอยู่ในความวิปโยคต่อการจากไปของทั้งสามพระองค์ผู้บูชาในความรัก
ท้าวพิชัยพิษณุกรพิโรธพระเจ้าย่าและทหาร รับสั่งให้ประหารชีวิตทุกคน พระนางบุญเหลือทรงส่งทูตมาร่วมงานพระศพกษัตริย์ทั้งสาม ในที่สุดเมืองสรวงและเมืองสรองก็กลับมาเป็นไมตรีต่อกัน
ข้อคิดสอนใจที่ได้จากเรื่อง ลิลิตรพระลอ:
• เพื่อให้ตระหนักเห็นโทษภัยของกิเลสต่างๆ ทั้งรัก โลภ โกรธ หลง ชี้ให้เห็นอารมณ์และกิเลสของมนุษย์นั้นมีอำนาจใหญ่หลวงนัก สามารถลิขิตชีวิตของตนเองได้…ถ้าหากเราไม่รู้เท่าทันอารมณ์…ย่อมหลงไปตามอำนาจกิเลสต่างๆ …แล้วนำไปสู่การทำสิ่งไม่ดี ทางเสื่อม และภัยอันตรายต่างๆมาสู่ตนเองได้
• ลิลิตพระลอถ่ายทอดมาจากชีวิตจริงอย่างเห็นได้ชัดเจน วรรณคดีเรื่องนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับความรัก มีความรักหลายประเภท ที่มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน
• ผู้แต่งถือหลักว่ามนุษย์มีทั้งรัก โลภ โกรธ หลง อยู่เป็นประจำตามวิสัยของมนุษย์ปุถุชนทั่วไป ตัวละครจึงมีชีวิตเลือดเนื้อเจือด้วยความรัก ความโลภ ความโกรธ และความหลง ดังเช่น พระนางบุญเหลือมีความรักลูก ท้าวพิชัยพิษณุกรมีใจนักเลงไม่อาฆาตพยาบาท พระเจ้าย่ามีความเคียดแค้น ความรักระหว่างเจ้ากับข้าถึงกับยอมสละชีวิตพลีชีพด้วยความเต็มใจ เป็นต้น

• หนังสือลิลิตพระลอเป็นหนังสือที่มีคุณค่า ใช้ถ้อยคำไพเราะกินใจดี มีความเปรียบเทียบที่คมคาย จับใจผู้อ่าน สมดังที่กล่าวไว้ในตอนต้นเรื่องว่า “ใครฟังย่อมใหลหลง ฤาอิ่ม ฟังนา” โคลงบางบทได้รับการยกย่องว่าเป็นโคลงครูมาแต่โบราณ ได้แก่โคลง “เสียงฤาเสียงเล่าอ้าง อันใด พี่เอย” การใช้ภาษามีถ้อยคำรุ่นเก่าปะปนอยู่มากเช่นเดียวกับมหาชาติคำหลวงและลิลิตยวนพ่าย ทำให้สามารถใช้ศึกษาการใช้คำในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้นได้

  • นิทานพื้นบ้านภาคอีสาเนื่องนางเเตงอ่อน

ที่เมืองนครศรี เจ้าเมืองนามว่าพระยาโกศรี มเหสีนามว่า ทองแดง มีโอรสนามว่า มหาวงศ์ ท้าวมหาวงศ์ชอบกีฬาชนไก่ วันหนึ่งไปต่อไก่ในป่ากับขุนสี่คน คือ ขุนเครือ ขุนคาน ขุนเค่ง และขุนทุ่มภู่ ได้ธิดาจระเข้ชื่อนางแตงอ่อน ผู้มีรูปกายเป็นมนุษย์มาเป็นมเหสี นางแตงอ่อนประสูติโอรส เมื่อท้าวมหาวงศ์ไปคล้องช้างในป่า นางจึงถูกหมู่มเหสีทั้งหลายเปลี่ยนโอรสของนางเป็นจรเข้ และโอรสจริงเอาไปลอยน้ำ เทพธิดาจึงนำไปเลี้ยงไว้บนสวรรค์ และตั้งชื่อว่า”สุริยง
นิทานพื้นบ้านภาคอีสาน เรื่องนางแตงอ่อน
ส่วนนางแตงอ่อนถูกสามีขับไล่ออกจากเมืองเพราะประสูติโอรสเป็นจระเข้ …นางแตงอ่อนกลับไปเมืองนาค …พบกุมภาพี่ชายของตนปกครองเมืองนาคสืบต่อจากบิดา …พี่ชายกุมภารู้ข่าวด้วยความสงสาร ได้มอบเมืองให้กอระกันผู้เป็นน้องชายปกครองต่อ …ส่วนตนกับแตงอ่อน ได้บวชเป็นฤาษี …เพื่อเรียนวิชาไว้แก้แค้นมหาวงศ์ ซึ่งขับไล่น้องสาวตน
สุริยงได้ศึกษาวิชาการต่างๆ และได้ลงมาพบว่า…มารดาตนถูกยักษ์ลักพาตัวไป…จึงได้ตามมารดาคืน และรบกับยักษ์จนได้ชัยชนะ…สุริยงได้นางปทุมมา นางอินทะวงศ์ นางหยาดคำ และนางคำไหล เป็นภริยา ซึ่งยักษ์นั้นได้ลักพาตัวมาไว้…และสุริยงก็ได้พามารดากลับบ้านเมือง…มหาวงษ์ได้ทราบความจริงว่านางแตงอ่อนถูกใส่ร้ายและสุริยงคือลูกของตน…พ่อแม่ลูกได้พบกันแล้วเข้าใจกัน …ทั้งสามคนจึงได้อยู่ด้วยกันอย่างสุขสันต์ในบั้นปลายชีวิต และครองคู่เมืองนครศรีสืบมา

  • นิทานพื้นบ้านเรื่องจันทโครพ

เจ้าชายจันทโครพ” แห่งเมืองพาราณสี …เมื่อเขาเติบโตเป็นหนุ่มได้ออกแสวงหาอาจารย์เพื่อรำเรียนวิชา …แล้วได้เจอกับพระฤๅษี ได้ร่ำเรียนวิชาจากท่านจนสำเร็จ จากนั้นจึงได้เดินทางกลับบ้านเมืองของตน …แต่ก่อนที่จะออกเดินทางฤๅษีได้มอบผะอบแก้วให้ …แล้วสั่งกำชับว่าห้ามเปิดจนกว่าจะถึงบ้านเมือง …แต่จันทโครพได้เสียสัตย์แอบเปิดผอบนั้นเสียก่อน …ซึ่งในผะอบมี “นางโมรา” ได้ปรากฏตัวออกมา จันทโครพก็ได้พานางโมราเดินทางต่อไป …แต่ระหว่างทางได้พบกับโจรป่า ซึ่งเห็นนางโมราเข้าจึงคิดแย่งชิง …จันทโครพก็ถูกโจรป่าฆ่าตาย (นางโมราเห็นจันทโครพตาย ก็ย่อมไม่ได้ตำแหน่งอัครมเหสีจึงไปอยู่กับโจรป่า เพราะจันทโครพสัญญาว่าจะมอบตำแหน่งอัครมเหสีให้)
นิทานพื้นบ้านไทย จันทโครพ
แต่จันทโครพยังไม่ถึงความตาย พระอินทร์จึงมาชุบชีวิตให้จันทโครพ …แล้วบอกว่าเนื้อคู่ที่แท้จริงอยู่ทางทิศเหนือ แล้วพระอินทร์ก็สาปนางโมราให้เป็นชะนี (โจรป่าคิดว่าวันหนึ่งถ้านางโมราได้เจอคนอื่นที่ดีกว่าตน จะต้องทิ้งตนไปแน่ เพราะขนาดจันทโครพผู้ที่เป็นถึงองค์ชายนางยังทิ้งได้ ดังนั้นโจรป่าจึงหนีไป นางโมราจึงออกตามหาโจรป่า) …จันทโครพได้เดินทางไปทางที่พระอินทร์บอก ก็พบถ้ำหนึ่งที่มียักษ์คอยเฝ้าอยู่ …จันทโครพจึงคิดว่าในถ้ำนั้นมีเนื้อคู่ของตนอยู่ จึงฆ่ายักษ์ตนนั้นแล้วเดินเข้าไปก็พบผู้หญิงคนหนึ่งชื่อ “นางมุจลินทร์” จึงอยู่กินกัน …แล้วจันทโครพคิดถึงพ่อแม่จึงพานางมุจลินทร์หนี (ตอนนั้นนางมุจลินทร์ท้องอ่อนๆด้วย) แล้วเดินไปสักพักก็เหนี่อยแล้วเผลอหลับไปทั้งคู่ …นางยักษ์จึงนำตัวนางมุจลินทร์ไปฟาดกับต้นไม้แล้วเหวี่ยงไปสุดแรง จากนั้นก็ปลอมตัวเป็นนางมุจลินทร์ไปนอนข้างจันทโครพ
เมื่อจันโครพเดินทางมาถึงเมืองก็ขอนอนพักผ่อน …แล้วพอตอนกลางคืนนางยักษ์ก็ไปกินวัวของชาวบ้าน โดยหารู้ไม่ว่าเจ้าของวัวดูอยู่ …เจ้าของวัวจึงไปบอกพระราชา (พ่อของจันทโครพ) (นางยักษ์ได้นำเสื้อผ้าที่เลอะเลือดไปซ่อนไว้) แต่ตอนนั้นดึกมากแล้วจึงพูดกันพรุ่งนี้เช้า …เมื่อเช้าแล้วจันทโครพได้ปลุกนางมุจลินทร์ตัวปลอม โดยไม่บอกเรื่องคดีแปลกประหลาด …แต่นางยักษ์ไม่ได้นอนมาทั้งคืนเลยแสร้งบอกว่าไม่สบาย …จันทโครพออกมาเข้าเฝ้าคนเดียว …แล้วพระโหราธิบดีก็ตรวจดูดวงให้จันทโครพ แล้วบอกว่าพรุ่งนี้ให้จันทโครพพานางมุจลินทร์มาด้วย
พอวันรุ่งขึ้นพระโหราธิบดีถามนางมุจลินทร์เกี่ยวกับเวลาที่เกิด …แต่นางยักษ์ไม่รู้จึงบอกวันผิดๆไป …พระโหราจึงบอกว่า บัดนี้ความจริงเปิดเผยแล้ว …เจ้าไม่ใช่คนแต่เจ้าเป็นนางยักษ์ นางยักษ์หน้าถอดสี… จันทโครพจึงฆ่านางยักษ์ตายแล้วออกตามหานางมุจลินทร์จนพบ… และตอนนั้นนางมุจลินทร์ได้คลอดบุตรชายชื่อ”จันทวงศ์” …ทั้งสามจึงอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข

  • นิทานพื้นบ้านไทย วรรณกรรมพื้นบ้าน เรื่องสังข์ทอง

นิทานเรื่องสังข์ทอง อีกวรรณกรรมพื้นบ้านและเป็นนิทานพื้นบ้านไทย ที่มีเนื้อเรื่องมีความสนุกสนานและเป็นนิยมมีตัวละครที่เป็นรู้จักกันเป็นอย่างดี คือ เจ้าเงาะซึ่งคือพระสังข์กับนางรจนา เป็นนิทานที่คนไทยในท้องถิ่นต่างๆ คุ้นเคยและชื่นชอบ ดังปรากฏแพร่หลายในท้องถิ่นต่างๆ หลากหลายสำนวนนอกจากความนิยมนิทานสังข์ทองในรูปแบบของวรรณกรรมแล้ว นิทานสังข์ทองยังมีความสัมพันธ์และบทบาทในวิถีชีวิตไทยด้านต่างๆ เช่น ชื่อสถานที่ สำนวนไทย เพลงพื้นบ้าน ปริศนาคำทาย ตำราพยากรณ์ชีวิต จิตรกรรม ตลอดจนศิลปะแขนงต่างๆ
แม้ในปัจจุบัน นิทานสังข์ทองก็ยังได้รับความนิยมและดำรงอยู่ในรูปแบบต่างๆ เช่น เนื้อหาในหนังสือแบบเรียนหลายหลักสูตร หนังสือการ์ตูน หนังสือนิทาน ภาพยนตร์การ์ตูนละครพื้นบ้าน นวนิยาย ตลอดจนงานศิลปะร่วมสมัย เช่น งานประติมากรรม การแสดงละครหุ่นสมัยใหม่ นอกจากนี้เนื้อหาและตัวละครจากนิทานสังข์ทองยังสัมพันธ์กับสิ่งอื่นๆ เช่น ชื่อพันธุ์ไม้ ชื่อรายการโทรทัศน์ ฯลฯ กล่าวได้ว่านิทานสังข์ทอง เป็นนิทานที่คนไทยคุ้นเคยและชื่นชอบมาหลายยุคหลายสมัยนับเป็นมรดกทางจินตนาการของคนไทย ที่ดำรงอยู่ในวิถีชีวิตไทยอย่างต่อเนื่องตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน
นิทานพื้นบ้านไทย เรื่องสังข์ทอง
ท้าวยศวิมล” มีมเหสีชื่อ”นางจันท์เทวี” มีสนมเอกชื่อ “นางจันทาเทวี” …พระองค์ไม่มีโอรสธิดาจึงบวงสรวงและรักษาศีลห้าเพื่อขอบุตร …และประกาศแก่พระมเหสีและนางสนมว่าถ้าใครมีโอรสก็จะมอบเมืองให้ครอง
อยู่มานางจันท์เทวีทรงครรภ์ เทวบุตรจุติมา เป็นพระโอรสของนาง แต่ประสูติมาเป็น”หอยสังข์” …นางจันทาเทวีเกิดความริษยาจึงติดสินบนโหรหลวงให้ทำนายว่าหอยสังข์จะทำให้บ้านเมืองเกิดความหายนะ ท้าวยศวิมลหลงเชื่อนางจันทาเทวี จึงจำใจต้องเนรเทศนางจันท์เทวีและหอยสังข์ไปจากเมือง …นางจันท์เทวีพาหอยสังข์ไปอาศัยตายายช่าวไร่ ช่วยงานตายายเป็นเวลา 5 ปี พระโอรสในหอยสังข์แอบออกมาช่วยทำงาน เช่น หุงหาอาหาร ไล่ไก่ไม่ให้จิกข้าว เมื่อนางจันท์เทวีทราบก็ทุบหอยสังข์เสีย
นิทานพื้นบ้าน วรรณกรรมไทย สังข์ทอง
ในเวลาต่อมา พระนางจันทาเทวีได้ไปว่าจ้างแม่เฒ่าสุเมธาให้ช่วยทำเสน่ห์เพื่อที่ท้าวยศวิมลจะได้หลงอยู่ในมนต์สะกด และได้ยุยงให้ท้าวยศวิมลไปจับตัวพระสังข์มาประหาร ท้าวยศวิมลจึงมีบัญชาให้จับตัวพระสังข์มาถ่วงน้ำ แต่ท้าวภุชงค์(พญานาค) ราชาแห่งเมืองบาดาลก็มาช่วยไว้ และนำไปเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรม ก่อนจะส่งให้นางพันธุรัตเลี้ยงดูต่อไปจนพระสังข์มีอายุได้ 15 ปีบริบูรณ์
วันหนึ่ง นางพันธุรัตได้ไปหาอาหาร พระสังข์ได้แอบไปเที่ยวเล่นที่หลังวัง และได้พบกับบ่อเงิน บ่อทอง รูปเงาะ เกือกทอง(รองเท้าทองนั้นเอง) ไม้พลอง และพระสังข์ก็รู้ความจริงว่านางพันธุรัตเป็นยักษ์ เมื่อพระสังข์พบเข้ากับโครงกระดูก จึงได้เตรียมแผนการหนีด้วยการสวมกระโดดลงไปชุบตัวในบ่อทอง สวมรูปเงาะ กับเกือกทอง และขโมยไม้พลองเหาะหนีไป
เมื่อนางพันธุรัตทราบว่าพระสังข์หนีไป ก็ออกตามหาจนพบพระสังข์อยู่บนเขาลูกหนึ่ง จึงขอร้องให้พระสังข์ลงมา แต่พระสังข์ก็ไม่ยอม นางพันธุรัตจึงเขียนมหาจินดามนตร์ที่ใช้เรียกเนื้อเรียกปลาได้ไว้ที่ก้อนหิน ก่อนที่นางจะอกแตกตาย ซึ่งพระสังข์ได้ลงมาท่องมหาจินดามนตร์จนจำได้ และได้สวมรูปเงาะออกเดินทางต่อไป
นิทานพื้นบ้าน วรรณกรรมไทย เรื่องสังข์ทอง
พระสังข์เดินทางมาถึงเมืองสามล ซึ่งมี “ท้าวสามล”และ “พระนางมณฑา” ปกครองเมือง ซึ่งท้าวสามลและพระนางมณฑามีธิดาล้วนถึง 7 พระองค์ โดยเฉพาะ พระธิดาองค์สุดท้องที่ชื่อ “รจนา” มีสิริโฉมเลิศล้ำกว่าธิดาทุกองค์ จนวันหนึ่งท้าวสามลได้จัดให้มีพิธีเสี่ยงมาลัยเลือกคู่ให้ธิดาทั้งเจ็ด ซึ่งธิดาทั้ง 6 ต่างเสี่ยงมาลัยได้คู่ครองทั้งสิ้น เว้นแต่นางรจนาที่มิได้เลือกเจ้าชายองค์ใดเป็นคู่ครอง ท้าวสามลจึงได้ให้ทหารไปนำตัวพระสังข์ในร่างเจ้าเงาะซึ่งเป็นชายเพียงคนเดียวที่เหลือในเมืองสามล ซึ่งนางรจนาเห็นรูปทองภายในของเจ้าเงาะ จึงได้เสี่ยงพวงมาลัยให้เจ้าเงาะ ทำให้ท้าวสามลโกรธมากจึงเนรเทศนางรจนาไปอยู่ที่กระท่อมปลายนากับเจ้าเงาะ
นิทานพื้นบ้านไทย นิทานก่อนนอน เรื่องสังข์ทอง
ณ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ของพระอินทร์ อาสน์ที่ประทับของพระอินทร์เกิดแข็งกระด้าง อันเป็นสัญญาณว่ามีผู้มีบุญกำลังเดือดร้อน จึงส่องทิพยเนตรลงไปพบเหตุการณ์ในเมืองสามล จึงได้แปลงกายเป็นกษัตริย์เมืองยกทัพไปล้อมเมืองสามล ท้าให้ท้าวสามลออกมาแข่งตีคลีกับพระองค์ หากท้าวสามลแพ้ พระองค์จะยึดเมืองสามลเสีย …ท้าวสามลส่งหกเขยไปแข่งตีคลีกับพระอินทร์ แต่ก็แพ้ไม่เป็นท่า จึงจำต้องเรียกเจ้าเงาะให้มาช่วยตีคลี ซึ่งนางรจนาได้ขอร้องให้สามีช่วยถอดรูปเงาะมาช่วยตีคลี เจ้าเงาะถูกขอร้องจนใจอ่อน และเงาะป่าก็ถอดรูปเป็นพระสังข์ทองใส่เกือกแก้วเหาะขึ้นไปตีคลีกับพระอินทร์จนชนะ พระอินทร์ก็กลับไปบนสวรรค์
นิทานไทย_สังข์ทอง
หลังจากเสร็จภารกิจที่เมืองสามลแล้ว พระอินทร์ได้ไปเข้าฝันท้าวยศวิมล และเปิดโปงความชั่วของพระนางจันทาเทวีผู้เป็นสนมเอก พร้อมกับสั่งให้ท้าวยศวิมลไปรับพระนางจันท์เทวีกับพระสังข์มาอยู่ด้วยกันดังเดิม ท้าวยศวิมลจึงยกขบวนเสด็จไปรับพระนางจันท์เทวีกลับมา และพากันเดินทางไปยังเมืองสามลเมื่อตามหาพระสังข์
ท้าวยศวิมลและพระนางจันท์เทวีปลอมตัวเป็นสามัญชนเข้าไปอยู่ในวัง โดยท้าวยศวิมลเข้าไปสมัครเป็นช่างสานกระบุง ตะกร้า ส่วนพระนางจันท์เทวีเข้าไปสมัครเป็นแม่ครัว และในวันหนึ่ง พระนางจันท์เทวีก็ปรุงแกงฟักถวายพระสังข์ โดยพระนางจันท์เทวีได้แกะสลักชิ้นฟักเจ็ดชิ้นเป็นเรื่องราวของพระสังข์ตั้งแต่เยาว์วัย ทำให้พระสังข์รู้ว่าพระมารดาตามมาแล้ว จึงมาที่ห้องครัวและได้พบกับพระมารดาที่พลัดพรากจากกันไปนานอีกครั้ง…หลังจากนั้น ท้าวยศวิมล พระนางจันท์เทวี พระสังข์กับนางรจนาได้เดินทางกลับเมืองยศวิมล ท้าวยศวิมลได้สั่งประหารพระนางจันทาเทวี และสละราชสมบัติให้พระสังข์ได้ครองราชย์สืบต่อมา
นิทานพื้นบ้านไทย สังข์ทอง

  • นิทานพื้นบ้านภาคเหนือ เรื่องขายปัญญา

นิทานล้านนา เรื่องขายปัญญา
ในกาลก่อนนั้น… สติปัญญาความรู้ ความเฉลียวฉลาดปราดเปรื่องนั้น มีการนำเอามาขายดังสินค้าต่าง ๆ เช่นปัจจุบันนี้ ดังนั้น ตลอดเวลาจะมีผู้นำเอาความรู้หรือเอาตัวปัญญานี้มาขายเสมอ
วันหนึ่งในเวลาบ่าย แดดร้อนจัดจนเป็นเปลว มีชายคนหนึ่งนำเอาปัญญามาขาย โดยบรรจุตัวปัญญาลงในกระทอจนเต็มแล้ว หาบผ่านเปลวแดดมาจนถึงประตูเมือง ครั้นจะเข้าไปทันทีก็เกรงว่าอากาศร้อน ๆ เช่นนี้จะทำให้อารมณ์ของตนเสียไปได้… เขาจึงสอดส่ายสายตาดูร่มไม้ใหญ่บริเวณรอบๆ ในที่สุดก็มองเห็นร่มหว้าใหญ่ใบตก มีร่มแผ่กว้างน่าพัก เขาจึงแวะเข้าไปแล้ววางหาบตัวปัญญาที่นำมาขายลง แล้วเอนหลังหลับไปด้วยความเหนื่อยอ่อน… จวบจนตะวันบ่ายคล้อยลง ความร้อนจึงค่อยบรรเทา ชายนั้นตื่นขึ้นแล้วไปล้างหน้าในสระน้ำใกล้กำแพงเมือง ตั้งใจว่าพอเสร็จธุระแล้วนำเอาตัวปัญญาเข้าไปเสนอขายในเมืองทันที
นิทานพื้นบ้านภาคเหนือ เรื่องขายปัญญา
ขณะที่เขาเตรียมจัดหาบเพื่อจะเข้าไปในเมืองอยู่นั้น พอดีมีหมู่คนประมาณ 4 – 5 คนออกจากประตูเมืองมา เมื่อมาถึงใต้ร่มหว้า ชายที่นำเอาตัวปัญญามาขายจึงร้องถามออกไปว่า ‘’พี่น้องทั้งหลาย ในพวกท่านมีใครบ้างไหมที่ต้องการซื้อเอาปัญญาไปไว้ใช้บ้าง” ชาวบ้านเหล่านั้นหันหน้ามามองกัน คนหนึ่งในพรรคพวกจึงถามว่า ‘’ท่านเอ๋ย ปัญญานั้นมันเป็นเสมอแก้วสารพัดนึก ซึ่งจะลดบันดาลให้ท่านล่วงรู้และสามารถประดิษฐ์คิดค้นสิ่งต่าง ๆ ที่แปลก ๆ ใหม่ได้อีกมากมายโดยไม่รู้จักจบสิ้น ปัญญาจะช่วยให้บ้านเมืองที่ล้าหลังเจริญก้าวหน้า
คนหนึ่งในพวกนั้นอุทานออกมาด้วยความพอใจ ‘’โอโฮ… ยังงั้นปัญญาก็เป็นแก้วสารพัดนึกละซิที่จะสามารถดลบันดาลสิ่งที่ต้องการได้ ทุกอย่าง นอกจากนั้นปัญญายังช่วยให้เราล่วงรู้สิ่งที่เรายังไม่รู้ด้วยใช่ไหม” ชายผู้นั้นพยักหน้าและรับปากว่า ‘’จริงทีเดียว พวกท่านเข้าใจอย่างถูกต้อง ปัญญาเปรียบเหมือนดวงแก้วที่จะส่องสว่างขจัดความโง่เขลาให้หายไปอย่างไรล่ะ พวกท่านมีใครต้องการบ้างไหมเล่า เรากำลังนำมาเสนอขายจนถึงบ้านของท่านล่ะ‘’
… ชายคนหนึ่งในหมู่คนนั้นอยากจะลองดูว่า ผู้เอาปัญญามาขายนั้นจะฉลาดและล่วงรู้ทุกสิ่งจริงดังที่เขากล่าวหรือไม่ เขาจึงก้มดูรอบๆ ต้นหว้าใหญ่นั้นอย่างพินิจพิเคราะห์แล้วเอ๋ยปากถามว่า ‘’เอาละ เมื่อท่านกล่าวว่า ปัญญาจะสามารถช่วยให้เราล่วงรู้ทุกอย่าง ข้าพเจ้าขอเรียนถามท่านว่า ท่านรู้หรือไม่ว่ามีอะไรอยู่ใต้ดินตรงที่ท่านยืนอยู่ตรงนี้ ถ้าหากท่านมีปัญญาจริง หวังว่าท่านคงจะตอบได้ ” ชายนั้นยืนเพ่งพินิจพิจารณาเป็นเวลานาน ก็ไม่สามารถบอกได้ว่าใต้หาบและใต้บริเวณที่ตนยืนอยู่นั้นมีอะไรอยู่ เขาจึงย้อนถามไปว่า ‘’ และท่านสามารถบอกได้รึว่าอะไรอยู่ใต้เท้าที่เรายืนอยู่นี้ 
… ชายที่ถามพยักหน้าและตอบออกไปทันทีว่า ‘’ แม้เราจะไม่มีตัวปัญญามาขายแต่เรากล้าบอกว่าใต้หาบตัวปัญญานี้มีไข่มดแดง (ดิน) รังใหญ่ หากท่านไม่เชื่อก็ช่วยเราขุดซิ หากไม่พบดังเราว่ายอมให้ท่านปรับเราก็แล้วกัน” ชายคนนั้นตกลง ต่อจากนั้นคนทั้งหมดต่างช่วยกันขุดลงไปจนลึกเกือบท่วมศรีษะ จึงพบไข่มดพร้อมทั้งแม่มันจำนวนมากมายในโพรงนั้นจริง ๆ ซึ่งการกระทำครั้งนี้ ทำให้ชายผู้เอาปัญญามาขายรู้สึกอับอายยิ่งนัก
ด้วยเหตุนี้เขาจึงยกเอาหาบปัญญาเดินหมุนกลับไปทางเดิม ไม่ยอมเอาตัวปัญญามาขายให้แก่ชาวเมืองนั้นเพราะเจ็บใจที่ถูกสบประมาทต่อหน้า เขาออกเดินทางไปเรื่อยๆ เป็นเวลานานจนกระทั่งไปพบคนผิวขาวได้แก่พวกฝรั่งนั่นเอง เขาจึงเอาตัวปัญญานี้นำออกไปขาย และด้วยเหตุนี้เองจึงทำให้ชาวยุโรปเจริญรวดเร็ว สามารถคิดและประดิษฐ์สิ่งต่างๆ ได้โดยไม่รู้จักจบสิ้น นอกจากนั้นยังมีการศึกษาเล่าเรียน ตลอดจนวิธีค้นคว้าซึ่งดีกว่าพวกเราเสียอีก
นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า
1. คนอวดรู้เมื่อไปพบคนที่รู้จริง สู้เขาไม่ได้ย่อมขายหน้า… หรือปัญญาเป็นเรื่องของนามธรรมจะชื้อจะขายกันเหมือนวัตถุหาได้ไม่ ผู้รู้แจ้งในปัญญาคือผู้ศึกษาค้นคว้าด้วยตนเอง… นั่นคือประสบการณ์หรือการศึกษาด้วยการกระทำจริงนั่นเอง … เหมือนชายที่รู้ได้ว่าพื้นดินตรงนั้นมีไข่แมงมัน เพราะใช้ความสังเกตและเคยหากินทางนี้มาแล้ว
2. คติ ‘’โง่อวดฉลาด”
ไข่มดแดง (ดิน) เป็นแมลงชนิดหนึ่งตัวเล็ก ๆ แม่มดตัวสีแดง ตัวเล็กมากมันจะขุดรูอยู่ลึกเวลาไข่ของมันแก่ตัว มันจะขุดขึ้นมา แล้วบินออกไปทำการผสมพันธุ์และไข่ต่อไป ทางภาคเหนือเรียกว่า แมงมัน รับประทานอร่อยมาก รังหนึ่ง ๆ มีไข่มากพอสมควร

  • นิทานไทย เรื่องไชยเชษฐ์

ท้าวอภัยนุราช” เจ้าเมืองเวสาลี มีพระธิดาองค์หนึ่ง พระนามว่า “นางจำปาทอง” เพราะเมื่อนางร้องไห้จะมีดอกจำปาทองร่วงลงมา ครั้นนางจำปาทองเจริญวัยขึ้น นางได้นำไข่จระเข้จากสระในสวนมาฟักจนเป็นตัวและเลี้ยงจระเข้ไว้ในวัง ครั้นจระเข้เติบใหญ่ขึ้น ก็ดุร้ายตามวิสัยของมัน มันเที่ยวไล่กัดชาวเมืองจนชาวเมืองเดือดร้อนไปทั่ว ท้าวอภัยนุราชทรงขัดเคืองจึงขับไล่นางจำปาทองออกจากเมืองเวสาลี “นางแมว” ซึ่งเป็นแมวที่นางจำปาทองเลี้ยงไว้ได้ติดตามนางไปด้วย นางจำปางทองกับนางแมวเดินซัดเซพเนจรอยู่ในป่า ไปพบยักษ์ตนหนึ่งชื่อ “นนทยักษ์” ซึ่งกำลังจะไปเฝ้าท้าวสิงหลนางตกใจกลัวจึงวิ่งหนีไปพบพระฤๅษี พระฤๅษีช่วยนางไว้ นางจำปาทองกับนางแมวจึงขออาศัยอยู่รับใช้พระฤๅษีในป่านั้น
นิทานพื้นบ้านไทย วรรณกรรมไทย ไชยเชษฐ์
ท้าวสิงหล” เป็นยักษ์ครองเมืองสิงหล ไม่มีโอรสและธิดา …คืนหนึ่งท้าวสิงหลบรรเทาหลับและทรงพระสุบินว่า มียักษ์ตนหนึ่งมาจากป่านำดอกจำปามาถวาย ดอกจำปามีสีเหลืองเหมือนทองคำงามยิ่งนัก ท้าวสิงหลจึงทรงให้โหรทำนายพระสุบิน โหรทำนายว่าท้าวสิงหลจะได้พระธิดา วันนั้นนนทยักษ์เข้าเฝ้าท้าวสิงหลและทูลว่าพบหญิงสาวอาศัยอยู่กับพระฤๅษีที่ในป่า ท้าวสิงหลจึงเสด็จไปหาพระฤๅษี และขอนางจำปาทองมาเป็นธิดา ประทานนามว่า “นางสุวิญชา
ฝ่าย”พระไชยเชษฐ์”เป็นโอรสเจ้าเมืองเหมันต์ …พระไชยเชษฐ์มีพระสนมอยู่ 7 คน …วันหนึ่งพระองค์เสด็จประพาสป่า และหลงทางเข้าไปในสวนเมืองสิงหล …นางสุวิญชามาเที่ยวชมสวนพบพระไชยเชษฐ์จึงนำความทูลให้ท้าวสิงหลทราบ ท้าวสิงหลให้พระไชยเชษฐ์เข้าเฝ้า พระไชยเชษฐ์จึงทูลขอรับราชการในเมืองสิงหล …ต่อมามีข้าศึกยกทัพมาตีเมืองสิงหล พระไชยเชษฐ์อาสาสู้ศึกจนชนะ …ท้าวสิงหลจึงทรงยกนางสุวิญชาให้เป็นชายาพระไชยเชษฐ์ …พระไชยเชษฐ์จึงพานางสุวิญชากลับเมืองเหมันต์
ฝ่ายนางสนมทั้ง 7 คนริษยานางสุวิญชาที่พระไชยเชษฐ์รักนางสุวิญชามากกว่า …ครั้นนางสุวิญชาทรงครรภ์จวนจะถึงกำหนดคลอดนางสนมทั้ง 7 คน ก็ออกอุบายว่ามีช้างเผือกอยู่ในป่า …พระไชยเชษฐ์จึงออกไปคล้องช้างเผือก …ฝ่ายนางสุวิญชาคลอดลูกเป็นกุมารมีศรกับพระขรรค์ติดดัวมาด้วย …นางสนมทั้ง 7 คน นำพระกุมารใส่หีบไปฝังที่ใต้ต้นไทรในป่า …เทวดาประจำต้นไม้ช่วยชีวิตพระกุมารไว้ …เมื่อพระไชยเชษฐ์เสด็จกลับจากคล้องช้างเผือก …นางสนมทั้ง 7 คน ทูลว่านางสุวิญชาคลอดลูกเป็นท่อนไม้ …พระไชยเชษฐ์จึงขับไล่นางสุวิญชาออกจากเมือง …ขณะที่นางสุวิญชาคลอดกุมารนั้น นางแมวแอบเห็นการกระทำของนางสนมทั้ง 7 คน จึงพานางสุวิญชาไปขุดหีบที่ใต้ต้นไทร …แล้วพาพระกุมารกลับไปเมืองสิงหล ท้าวสิงหลตั้งชื่อพระกุมารว่า พระนารายณ์ธิเบศร์
ต่อมาพระไชยเชษฐ์ทรงรู้ความจริงว่านางสุวิญชาถูกใส่ร้าย …จึงออกติดตามนางสุวิญชาไปเมืองสิงหล…และได้พบ “พระนารายณ์ธิเบศร์” ซึ่งกำลังประพาศป่ากับพระพี่เลี้ยง พระไชยเชษฐ์เห็นพระนารายณ์ธิเบศร์เป็นเด็กน่ารัก มีหน้าตาคล้ายพระองค์ก็มั่นใจว่าเป็นพระโอรส …จึงเข้าไปขออุ้มและเอาขนมนมเนยให้ …พระนารายณ์ธิเบศร์โกรธว่าเป็นคนแปลกหน้า จึงไม่ให้จับต้องและไม่ยอมเสวยขนม
พระนารายณ์ธิเบศร์โกรธพระไชยเชษฐ์ที่มาจับต้องตัวและจับหัวของพระพี่เลี้ยงของตนจึงใช้ศรธนูหมายจะฆ่าให้ตาย …แต่ธนูที่ยิงออกไปนั้นกลับกลายเป็นดอกไม้กระจายเต็มพื้นดิน …จึงทำให้พระไชยเชษฐ์เกิดความประหลาดใจยิ่งนัก …เจ้าชายจึงอธิษฐานจิตว่าถ้ากุมารองค์นี้เป็นลูกของตนที่เกิดกับนางสุวิญชา ขอให้ธนูที่ยิงออกไปนั้นกลายเป็นอาหาร …ทันใดนั้นพระไชยเชษฐ์ก็แผลงศรออกไป และศรธนูที่ยิงออกไปนั้นก็กลายเป็นอาหารมากมายเต็มพื้น …จึงทำให้พระไชยเชษฐ์มั่นใจเป็นแน่แท้ว่าเป็นบุตรของตนจริง
พระไชยเชษฐ์ทรงไต่ถามพระนารายณ์ธิเบศร์เกี่ยวกับมารดา …เพราะทรงจำแหวนที่พระนารายณ์ธิเบศร์สวมได้ พระนารายณ์ธิเบศร์บอกว่านางสุวิญชาเป็นแม่และท้าวสิงหลเป็นพ่อ …พระไชยเชษฐ์จึงทรงเล่าเรื่องเดิมให้พระนารายณ์ธิเบศร์ฟัง …ทั้งสองจึงทราบว่าเป็นพ่อลูกกัน …พระนารายณ์ธิเบศร์พาพระไชยเชษฐ์เข้าเฝ้าท้าวสิงหล …พระไชยเชษฐ์ขอโทษนางสุวิญชา …ส่วนพระนารายณ์ธิเบศร์ลูกชายก็ช่วยทูลนางสุวิญชาให้หายโกรธพ่อ …นางสุวิญชายกโทษให้พระไชยเชษฐ์ นางสุวิญชา และพระนารายณ์ธิเบศร์ …สามคนพ่อแม่ลูกจึงอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข

  • นิทานพื้นบ้าน เรื่องโสนน้อยเรือนงาม

ที่”นครโรมวิสัย” มีกษัตริย์ครองอยู่ มีพระราชธิดาที่สวยงามมาก พระราชธิดานี้เมื่อประสูติมีเรื่อนไม้เล็กๆ ติดมือออกมาด้วย เรือนนี้เมื่อพระธิดาเจริญวัยขึ้น เรือนไม้นี้ก็โตขึ้นด้วยและกลายเป็นของเล่นของพระราชธิดา พระบิดาจึงตั้งชื่อพระราชธิดาว่า “โสนน้อยเรือนงาม” เมื่อโสนน้อยเรือนงามมีพระชนม์พรรษาได้สิบห้าพรรษา โหรทูลพระบิดาว่าโสนน้อยเรือนงามกำลังมีเคราะห์ ควรให้ออกไปจากเมืองเสีย เพราะจะต้องอภิเษกกับคนที่ตายแล้ว พระบิดาและพระมารดาก็จำใจให้โสนน้อยเรือนงามออกไปจากเมืองแต่ผู้เดียว โสนน้อยเรือนงามปลอมตัวเป็นชาวบ้านและเอาเครี่องทรงพระราชธิดาห่อไว้ พระอินทร์สงสารนางจึงแปลงร่างเป็นชีปะขาวมามอบยาวิเศษสำหรับรักษาคนตายให้ฟื้นได้ โสนน้อยเรือนงามเดินทางเข้าไปในป่าพบ “นางกุลา” หญิงใจร้ายนอนตายเพราะถูกงูกัด โสนน้อยเรือนงามจึงนำยาของชีปะขาวมารักษา นางกุลาก็ฟื้น นางจึงขอเป็นทาสติดตามโสนน้อยเรือนงาม
นิทานพื้นบ้านไทย โสนน้อยเรือนงาม
ที่ “นครนพรัตน์” เมืองใกล้เคียงโรมวิสัย มีกษัตริย์ครองอยู่มีพระราชโอรสนามว่า “พระวิจิตรจินดา” ซึ่งเป็นชายหนุมรูปงามและมีความสามารถ แต่วันหนึ่งพระวิจิตรจินดาถูกงูพิษกัดสิ้นพระชนม์ พระบิดาและพระมารดาเศร้าโศรกเสียใจมาก แต่โหรทูลว่า พระวิจิตรจินดาจะสิ้นพระชนม์ไปเจ็ดปีแล้วจะมีพระราชธิดาของเมื่องอื่นมารักษาได้ พระบิดาและพระมารดาจึงเก็บพระศพของพระวิจิตรจินดาไว้ และมีประกาศให้คนมารักษาให้ฟื้น
โสนน้อยเรือนงามและนางกุลาเดินทางมาถึงเมืองนพรัตน์ได้ทราบจากประกาศ จึงเข้าไปในวังและอาสาทำการรักษา โดยขอให้กั้นม่านเจ็ดชั้น ไม่ให้ใครเห็นเวลารักษา โสนน้อยเรือนงามแต่งเครื่องทรงพระราชธิดาทำการรักษา โดยนางกุลาติดตามเฝ้าดู เมื่อโสนน้อยเรือนงามทายาให้พระวิจิตรจินดา พิษของนาคราชเป็นไอร้อนออกมาทำให้นางรู้สึกร้อนมาก จึงถอดเครื่องทรงพระราชธิดาออกแล้วเสด็จไปสรงน้ำ ระหว่างนั้นนางกุลาก็นำเครื่องทรงพระราชธิดาของโสนน้อยเรือนงามามแต่ง พอดีพระวิจิตรจินดาฟื้น ทุกคนก็คิดว่านางกุลาเป็นพระราชธิดาที่รักษาจึงเตรียมจะให้อภิเษก ส่วนโสนน้อยเรือนงามต้องกลายเป็นข้าทาสของนางกุลาไป
พระวิจิตรจินดาและพระบิดาและพระมารดาก็ยังมีความสงสัยในนางกุลา จึงให้นางเย็บกระทงใบตองถวาย นางกุลาทำไม่ได้โยนใบตองทิ้งไป โสนน้อยเรือนงามเก็บใบตองมาเย็บเป็นกระทงสวยงาม นางกุลาก็แย้งไปถวายพระราชบิดามารดาของพระวิจิตรจินดา พระวิจิตรจินดาไม่อยากอภิเษกกับนางกุลาจึงขอลาพระบิดาพระมารดาไปเที่ยวทางทะเล พระบิดาพระมารดาให้นางกุลาย้อมผ้าผูกเรือ นางกุลาก็ทำไม่เป็น โยนผ้าและสีทิ้ง โสนน้อยเรือนงามเก็บผ้าและสีไปย้อมได้สีงดงาม นางกุลาก็แย้งนำไปถวายพระบิดาพระมารดาอีก …เมื่อพระวิจิตรจินดาจะออกเรือก็ปรากฎว่าเรือไม่เคลื่อนที่ พระวิจิตรจินดาทรงคิดว่าคงมีผู้มีบุญในวังต้องการฝากซื้อของ เรือจึงไม่เคลื่อนที่ จึงให้ทหารมาถามรายการของที่คนในวังจะฝากซื้อ ทุกคนก็ได้มีโอกาสฝากซื้อ แต่โสนน้อยเรือนงามอยู่ใต้ถุนถึงไม่มีใครไปถาม เรือก็ยังไม่เคลื่อนที่ พระวิจิตรจินดาจึงให้ทหารกลับไปค้นหาคนในวังที่ยังไม่ได้ฝากซื้อของ ทหารจึงได้ไปค้นหานางโสนน้อยเรือนงามได้ นางจึงฝากซื้อ”โสนน้อยเรือนงาม”
เมื่อพระวิจิตรจินดาเดินทางไป ลมก็บันดาลให้พัดไปยังเมืองโรมวิสัยของพระบิดาของโสนน้อยเรือนงาม พระวิจิตรจินดาซื้อของฝากได้จนครบทุกคน …ยกเว้นโสนน้อยเรื่อนงาม …พระวิจิตรจินดาจึงสอบถามจากชาวเมือง ชาวเมืองบอกว่าโสนน้อยเรือนงามมีอยู่แต่ในวังเท่านั้น พระวิจิตรจินดาจึงเข้าไปในวังและทูลขอซื้อโสนน้อยเรือนงามไปให้นางข้าทาส พระบิดาของโสนน้อยเรือนงามทรงถามถึงรูปร่างหน้าตาของนางทาส ก็ทรงทราบว่าเป็นพระธิดา จึงมอบโสนน้อนเรือนงามให้พระวิจิตรจินดาและให้ทหารตามมาสองคน
เมื่อพระวิจิตรจินดากลับถึงบ้านเมือง ทหารสองคนก็ไปทำความเคารพนางโสนน้อยเรือนงาม และเรือนวิเศษก็ขยายเป็นเรือนใหญ่มีข้าวของเครื่องใช้พระธิดาครบถ้วน โสนน้อยเรือนงามก็เข้าไปอยู่ในเรือนนั้น พระวิจิตรจินดาจึงแน่ใจว่าโสนน้อยเรือนงามเป็นพระราชธิดาที่รักษาตน จึงจะฆ่านางกุลาแต่โสนน้อยเรือนงามขอชีวิตไว้ พระวิจิตรจินดาก็ได้อภิเษกกับนางโสนน้อยเรือนงามและอยู่ด้วยกันมีความสุขสืบไป

  • นิทานพื้นบ้านภาคกลาง เรื่องพิกุลทอง

กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้วมีหญิงสาวสวย คนหนึ่งชื่อว่า “พิกุล” …กล่าวกันว่าเธอมีความสวยทั้งหน้าตาและ กิริยามรรยาท มารดาของเธอตายตั้งแต่เธอยังเล็กมาก ดังนั้นเธอจึงได้รับการเลี้ยงดูจากแม่เลี้ยงซึ่งเธอเองก็มีลูกสาวคนหนึ่ง ชื่อว่า “มะลิ” …แต่ก็โชคร้ายที่ว่าทั้งแม่เลี้ยงและลูกสาวของเธอนั้นเป็นคนใจร้าย ทั้งคู่จะบังคับให้พิกุลทำงานหนักทุกวัน
นิทานพื้นบ้านภาคกลาง พิกุลทอง
อยู่มาวันหนึ่ง หลังจากตำข้าวเสร็จแล้ว …พิกุลก็ออกไปตักน้ำที่ลำธารซึ่งอยู่ไม่ไกลจากบ้านนัก ในขณะเดินทางกลับ …ทันใดนั้นก็มีหญิงชราคนหนึ่งปรากฏอยู่เบื้องหน้าของพิกุลและขอน้ำเธอดื่ม พิกุลดีใจมากที่ได้ช่วยหญิงชราคนนั้น …เธอเอาน้ำให้หญิงชราและบอกให้เธอเอาน้ำไปอีกเพื่อจะได้ล้างหน้า และล้างตัวให้สดชื่น พิกุลบอกหญิงชราว่าไม้ต้องห่วงเพราะถ้าน้ำไม่พอเธอจะไปตักมาอีก …หญิงชรายิ้มและกล่าวว่า “เธอนี่นอกจากจะสวยแล้วยังใจดีอีกถึงแม้ว่าฉันจะดูยากจน และมอมแมมเธอก็ปฏิบัติกับฉันเป็นอย่างดี”
หลังจากกล่าวชื่นชมพิกุลแล้ว …หญิงชราก็ให้พรวิเศษกับเธอ และด้วยอำนาจของพรวิเศษนี้จะทำให้ดอกพิกุลทองคำร่วงออกมาจากปากของเธอ …เมื่อใดก็ตามที่เธอรู้สึกสงสารใครหรือสิ่งใด …หลังจากหญิงชราให้พรวิเศษแก่พิกุลแล้ว ก็หายวับไปต่อหน้าต่อตาของเธอ …พิกุลก็รู้ทันทีว่าแท้ที่จริงแล้วหญิงผู้นั้นเป็นนางฟ้าจำแลงมาให้พรวิเศษแก่ตน …ทันทีที่กลับถึงบ้านช้า เธอก็ถูกแม่เลี้ยงดุด่าว่าไปเถลไถลเพื่อหนีงาน ดังนั้นพิกุลจึงเล่าเรื่องทั้งหมด ให้ผู้เป็นแม่เลี้ยงฟังพร้อมกับเกิดความรู้สึกสงสารใน …ขณะเล่าจึงทำให้ดอกพิกุลทองคำร่วงออกมาจากปากของเธอด้วย …แม่เลี้ยงจอมละโมบก็เปลี่ยนอารมณ์จากโกรธเป็นละโมบในทันทีพร้อมกับตะครุบดอกพิกุลทองทั้ง หมดไว้ในขณะที่ปากก็สั่งให้พิกุลพูดต่อไปเรื่อย ๆ เพื่อสนองความละโมบของเธอนั่นเอง
นิทานพิ้นบ้านไทย นิทานเด็ก พิกุลทอง
นับจากวันนั้นเป็นต้นมา แม่เลี้ยงของพิกุลก็เก็บรวบรวมดอกพิกุลทองคำไว้ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อนำไปขายและได้เงินมามากมาย ชีวิตทุกคนตอนนี้ก็มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น พิกุลเองก็ไม่ต้องทำงานหนักเหมือนแต่ก่อน แต่ก็ถูกบังคับให้พูดทั้งวันเพื่อให้ดอกพิกุลทองคำออกมาจากปากของเธอมากๆ นั่นเอง …พิกุลทองอ่อนล้าไปกับการตอบสนองความละโมบของแม่เลี้ยง ตอนนี้พิกุลเองเกิดเจ็บคอและกลายเป็นคน เสียงแหบเสียงแห้งไปเลย เธอพูดไม่ได้ไประยะหนึ่ง …อาการเช่นนี้ทำให้แม่เลี้ยงโมโหมากขึ้นจนถึงขั้นตบตี พิกุลเพื่อพยายามยังคับให้เธอพูดแต่พิกุลก็พูดไม่ได้แม้แต่คำเดียว
… เพื่อตอบสนองความละโมบของตน ตัวแม่เลี้ยงเองจึงตัดสินใจส่งลูกสาวของตนนามว่ามะลิไปทำตามอย่างพิกุลบ้าง … มะลิถูกส่งไปยังสถานที่เดียวกับที่พิกุลบอกไว้แต่ว่าแทนที่จะได้พบกับหญิง ชราก็กลับเป็น พบหญิงสาวสวยสวมเสื้อผ้างดงามยืนอยู่ใต้ร่มใหญ่ หญิงสาวผู้นั้นขอน้ำมะลิดื่มแต่ด้วยความริษยามะลิแสดงอาการโกรธและคิดว่า หญิงผู้นั้นไม่ใช่นางฟ้า เธอจึงปฏิเสธและใช้วาจาหยาบคายด่าทอนางฟ้าจำแลง …ดังนั้น นางฟ้าจึงสาปแช่งมะลิว่า เมื่อใดก็ตามที่เธอโกรธและพูดออกมาแล้วไซร้ ก็จะมีหนอนร่วงออกมาจากปากของเธอ เมื่อกลับมาถึงบ้านมะลิก็เล่าเรื่องทั้งหมดให้ผู้เป็นแม่ฟังและด้วยความโกรธ ในขณะ เล่าเรื่องนั้นก็ทำให้บ้านทั้งหลังเต็มไปด้วยตัวหนอน ผู้เป็นแม่คิดว่าพิกุลอิจฉาลูกสาวของตน ดังนั้นจึงแกล้งบิดเบือนเรื่องที่เล่าจึงเป็นเหตุให้ลูกสาวของตนไม่ได้พบกับ หญิงชราแม่เลี้ยงจึงทุบตีพิกุลและไล่เธอออกจากบ้านไป
นิทานพื้นบ้าน นิทานก่อนนอน พิกุลทอง
ด้วยความเสียใจอย่างสุดซึ้งพิกุลจึงท่องเที่ยวไปในป่า แต่เพียงลำพัง โชคดีที่ว่าเธอเดินไปในทิศทางที่ เจ้าชายหนุ่มกำลังเพลิดเพลินอยู่กับการขี่ม้าประพาสป่ากับข้าราชบริพารผ่าน มาพอดีเมื่อทอดพระเนตรเห็นสาวนั่งร้องไห้อยู่ทรงถามเรื่องราวความเป็นมาทั้ง หมด ทันทีที่พูดจบที่บริเวณนั้นก็เต็มไปด้วยดอกพิกุลทองคำ …เจ้าชายดีพระทัยยิ่งนัก จึงขอนางอภิเษกสมรสด้วยและหลังจากการอภิเษกสมรสทั้งสองพระองค์ก็ได้ ขึ้นครองราชย์และปกครองเมืองของพระองค์ด้วยความร่มเย็นเป็นสุขตลอดมา
นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า
1. จากเค้าเรื่องนิทานนี้จึงเป็นต้นกำเนิดของสำนวนไทยเปรียบเปรยคนที่ไม่ค่อยพูดหรือมักพูดอุบอิบอยู่แต่ในปากว่า “กลัวดอกพิกุลจะร่วง
2. “การคิดดีทำดี …ย่อมได้รับสิ่งที่ดีตอบสนองเสมอ” …อย่างเช่น พิกุล

  • นิทานพื้นบ้านภาคอีสาน เรื่องพญาคันคาก

นิทานเรื่องพญาคันคาก เป็นนิทานพื้นบ้านภาคอีสานและเป็นตำนานบั้งไฟพญานาค คำว่า “คันคาก” เป็นคำลาวภาคอีสานและสองฝั่งโขง ตรงกับคำไทยลุ่มน้ำเจ้าพระยาภาคกลางว่า “คางคก” มีคำบอกเล่าเก่าแก่ตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ จารบนใบลานเป็นอักษรไทยน้อย เรื่องพญาคันคากรบกัถนเพื่อขอน้ำฝนให้ตกต้องตามฤดูกาล มีความพิสดารสนุกสนานแตกต่างกันตามแต่ละท้องถิ่น …แต่เนื้อหาสาระสำคัญตรงกัน
นิทานพื้นบ้านภาคอีสาน พญาคันคาก
คันคากเป็นราชา
พญา คันคาก เป็นราชาครองเมืองชมพู บรรดาบ้านเมืองบริวารใหญ่น้อย พร้อมใจกันบังคมก้มให้พญาคันคากถ้วนทั่วทุกหัวระแ หง จนลืมส่งสการไหว้สาฟ้าแถนเหมือนแต่ก่อน …ผีฟ้า “พญาแถน” เป็นใหญ่อยู่เมืองแมนแดนสวรรค์ ครั้นเมื่อฝูงคนทั้งหลายไปภักดีต่อ พญาคันคากหมดสิ้น ผีฟ้าพญาแถนเลยโกรธ ก็ไม่ส่งน้ำฟ้าน้ำฝนหล่นลงมาให้บ้านเมืองแว่นแคว้นใหญ่น้อย จนเกิดความแห้งแล้งทุกหย่อมหญ้าสาหัส
พญาคันคากเห็นความทุกข์ยากของไพร่บ้านพลเมือง ก็มุดลงไปเมืองบาดาลนาค แล้วไต่ถามความนัยว่าเหตุไฉนถึงเกิดภัยแล้ งแห้งน้ำมานานปี …พญานาคจอมบาดาล จึงบอกเหตุว่าเพราะผีฟ้าพญาแถนไม่ให้นาคทั้งหลายขึ้นไปเล่นน้ำบนสวรรค์เหมือนแต่ก่อน น้ำเลยไม่แตก ฉานซ่านกระเซ็นกระเด็นกระดอนเป็นฝนฝอยหล่นลงมาเลี้ยงโลกมนุษย์ เมืองชมพูและบริวารเลยยากแค้นแสนกันดาร ด้วยแถนฟ้าเคืองรำคาญผู้คนที่ไม่บัตรพลีดีไหว้ มัวแต่ไปบังคมพญาคันคากนั้นแล …พญาคันคากรู้ความตามจริงก็ยิ่งโกรธพิโรธนัก สั่งให้พญานาคผู้เป็นเมืองบริวารทำทางถนนจากเมืองชมพูขึ้นไปเมืองแถนแดนสวรรค์
คางคกยกรบ
พญานาคพร้อมนาคบริวาร พากันแผ่พังพานพวนขนดแล้วขดขนขุนภูเขาทุกเขตแคว้นแดนมนุษย์เอามาต่อเข้าด้วยกัน บรรดาปล วกระดมขนดินมาถมพอกภูเขา ให้เป็นทางถนนด้นดั้นถึงเมืองแถนในทันที …ฝูงพญานาคครุฑยุดพญานาคมาพร้อมกัน ทั้งฝูงต่อ ฝูงแตน และมิ้ม ผึ้ง มอด มด ทั้งหมดทั้งนั้นมาพร้อมเพรียงกันด้วยสรรพสัตว์สารพัด เสือสิงห์ กระทิง แรด ในปัถพี เมื่อสารพัดสัตว์มาชุมนุมสามัคคีพร้อมกันแล้ว พญาคันคากก็สั่งให้เคลื่อนขบวน ล้วนไพร่พลโยธีไปตามทางถนนหนเหินเดินเป็นหมวดหมู่แถวแนว ตรงแน่วขึ้นไปเมืองแถนแดนสวรรค์ชั้นฟ้าพู้นแล
พญานาคกับพญาแถนรบรากันสนั่นหวั่นไหวคล้ายเสียงฟ้าร้อง จนกระทั่ง พญาแถนยกมือขึ้นบังคมพนมไหว้ยอมแพ้ ขอเป็นเมืองส่วยสุจริตแต่งน้ำฟ้า หาฝนหล่นลงเมืองมนุษย์ทุกปี แล้วร้องเชิญพญาคันคากเข้าเมืองแถน
นิทานพื้นบ้านภาคอีสาน ตำนานบั้งไฟพญานาค พญาคันคาก
คันคากอบรมแถน
ในคุ้มหลวงเมืองแถน บรรดาบริวารพญาแถนทั้งลูก เมียและนางท้าว ร้องขอต่อพญาคันคากที่นั่งเมืองแถนว่า อย่าพิฆาตฟาดฟัน บั่นเกล้าชาวแถนเลย จะยอมเป็นข้าช่วงใช้ไปนิรันดร
พญาคันคากมีใจเมตตา แล้วเจรจาว่ากล่าวอบรมบ่มนิสัยพญาแถนให้ประพฤติธรรม ต้องเอาใจใส่ดูแลทั้งชาวแถนและชาวมนุษ ย์จนสุดใจดินใจฟ้า ด้วยโลกนี้มีทั้ง ดิน หญ้าและฟ้าแถน ต้องพึ่งพาอาศัยกันมั่นคงถึงจะดำรงอยู่ได้ชั่วฟ้าดิน ถึงฤดูเดือนปีที่นาคต้ องขึ้นมาเล่นน้ำบนฟ้าก็อย่าห้ามปราม เพราะนาคจะได้พ่นน้ำกระแทกคลื่น ดื่นดกตกเป็นฝอยฝนหล่นไปชุบเลี้ยงเอี้ยงดูหมู่มนุษย์ ทำไร่ไถนา ได้พืชพันธุ์ว่านยาอาหารอุดมสมบูรณ์ ถ้าไม่มีน้ำฟ้าน้ำฝน คนในเมืองมนุษย์สุดลำบาก จะได้ยากโหยหิวชิวหาดังราไฟ เมื่อไม่มีพืชพันธุ์ว่านยาอาหารเลี้ยงชีวังสังขาร แล้วจะเอาอะไรส่งสักการสังเวยให้แถนกินบนฟ้า แถนฟ้าก็ต้องเงือดงดอดตายไ ม่เป็นสุข นอกจากคนทั้งหลายแล้ว ในเมืองมนุษย์ยังมีพืชและสัตว์ ต้องอาศัยน้ำฝนน้ำฟ้าจากเมืองแถน ถ้าอนาถขาดแคลนเสียแ ล้วก็ต้องเดือดร้อนสารพัด ทั้งสัตว์และพืชเป็นล้นพ้น เราเองพญาคันคาก คือ คางคกสัตว์ไม่มีขน ยังต้องดูแลเผื่อแผ่เกื้อหนุนฝูงม นุษย์ พี่น้องเราทั้งหมดก็ล้วนสัตว์บริสุทธิ์ที่พิทักษ์รักษาผู้คนให้มีความสุขอุดมสมบูรณ์เสมอกัน ท่านซึ่งเป็นพญาแถนควรจดจำเป็ นเยี่ยง อย่าง อย่าเบียดเบียนผู้อื่นให้เดือดร้อน แถนฟ้าต้องรักษาหน้าที่ปล่อยน้ำฟ้าน้ำฝนให้ตกต้องตามฤดู ไม่อย่างนั้นจะขึ้นมาลงโทษอีกให้สาสม
พญาแถนถามว่าจะรู้ได้อย่างไรว่าเมืองมนุษย์ต้องการน้ำตอนไหน เมื่อไร
พญาคันคากตอบว่าจะส่งสัญญาณให้ พญานาคขี่บั้งไฟ ขึ้นมาอย่างรวดเร็ว เมื่อได้ยินเสียงแล้วมองเห็นบั้งไฟมีหัวพญานาค ก็ใ ห้ไขน้ำทำฝนหล่นลงเมืองมนุษย์ทันที
พญาแถนน้อมรับคำสั่งสอนของพญาคันคากทุกอย่าง แล้วสั่งให้ไพร่พลลูกเมียเตรียมสำรับกับข้าวเลี้ยงดูกองทัพ พญาคันคากไม่รู้จักข้าว เลยถามว่ามันคืออะไร …พญาแถนบอกว่าเมืองฟ้าเมืองแถนมีข้าวปลูกไว้กินเป็นข้าวหอมอร่อยมาก แล้วอธิบายสรรพคุณยืดยาว พญาคันคากเลยสั่งให้พญาแถนเอาข้าวลงไปปลูกในเมืองมนุษย์ รวงข้างให้ยาวแค่วา เมล็ดข้าวเท่ามะพร้าว ต้นข้าวเท่าลำตาลก็พอแล้ว …พญาแถนรับคำ แล้วบอกเพิ่มเติมว่า ข้าวพวกนี้เมื่อโตเต็มที่เมล็ดข้าวจะหล่นจากรวงเอง แล้วจะแล่นไปเข้ายุ้งฉางข้าวเอง ขอให้มนุษย์ทำ ยุ้งฉางเยียข้าว คอยไว้เท่านั้น …เมื่อสำเร็จเสร็จสรรพแล้ว พญาคันคากก็พาสารพัดสัตว์ ไพร่พลทั้งหลาย ลงจากเมืองแถนแดนฟ้า กลับสู่แดนดินเมืองชมพูตามเส้นทางเดิมที่ปลวกทำไว้
นิทานพื้นบ้านไทย พญาคันคาก
คนทำลายโลกมนุษย์
ครั้นพญาคันคากละร่างคางคกรูปคนสิ้นอายุขัยแล้วสวรรคต เมื่อช้านานกาลกำหนดความอุดมสมบูรณ์ก็เริ่มประหลาด ผู้คนในชม พูทวีปต่างประมาทขาดสำรวมจนเรรวนแล้วเกียจคร้าน เหตุเพราะความสะดวกสบายที่พญาแถนบันดาล ผู้คนลืมทำ ยุ้งเลียเล้าข้ าวให้พร้อมเสร็จตามเวลากำหนด เมื่อเมล็ดข้าวสุก จึงหล่นเรี่ยราดตามนาไร่ เมื่อไม่มีที่อยู่ก็บินหาที่พำนักในเรือนนอนของผู้คน เขาก็พากันเอาพร้า มีดขวานโขกสับเมล็ดข้าวจนปี้ปนแตกตัดกระจัดกระจาย เหลือเมล็ดเท่ากรวดทรายกระจิริดตั้งแต่นั้นมา
ทางถนนที่ปลวกทำไว้ให้พญาคันคากขึ้นไปหาฟ้าแถนแต่ก่อน มีเครือเขากาดเกี่ยวพันแน่นหนาไม่สั่นคลอน ถาวรเป็นนิรันดรให้ ผู้คนสัญจรไปมา พญาแถนพิจารณาว่า มนุษย์ไม่ซื่อตรง ล้วนลุ่มหลงแต่ความสบายบริโภคซึ่งพิษภัย เบียดเบียนกันเองไม่เกรงใค รเหมือนปลาใหญ่กินปลาเล็กทุกบริเวณ ผีฟ้าพญาแถนก็ก่งศรร่อนธนูสู่ทางถนนเครือเขากาด หนทางปลวกของพญาคันคากก็ขาดสะบั้นถล่มทลายกระจาย เป็นภูดอยน้อยใหญ่ในชมพูทวีปแต่นั้นมา
ผีฟ้าพญาแถนแดนสวางสวงสังเวียนบนสวรรค์ ก็ลงโทษทัณฑ์มนุษย์ทั้งหลายที่มักเกียจคร้าน จึงไม่ปลุกพันธุ์ข้าวทิพย์ให้มนุษย์เหมือนแต่ก่อน มนุษย์ต้องหักร้างถางพงในดงดอน แล้วถางไถปลูกข้าวกินเองอย่างทุกข์ทรมานแต่นั้นมา
พญาคันคากจากไป พญาแถนก็ไม่กลับมา ฤดูเดือนเคลื่อนที่ไม่คงทน น้ำฟ้าน้ำฝนขาดตกบกพร่อง แม่น้ำลำคลองเ น่าเหม็นเป็นอันตราย สุมทุมพุ่มไม้ป่าดงพงไพรพินาศ ล้วนมีเหตุจากความประมาทของมนุษย์ตั้งแต่บัดนั้นจนบัดนี้

  • นิทานพื้นบ้านภาคกลาง เรื่องพระนางจามเทวี

นิทานพื้นบ้านภาคกลาง พระนางจามเทวี
มีพระมเหสีของเจ้าเมืองอโยธยาองค์หนึ่ง ชื่อ”พระนางจามเทวี” เป็นราชธิดาของกษัตริย์กรุงละโว้ ซึ่งได้ยกพระธิดาให้เจ้าเมืองอโยธยา พระนางก็ได้มาอยู่ที่กรุงอโยธยาจนกระทั่งกษัตริย์กรุงอโยธยาเสด็จสวรรคต พระนางจามเทวีจึงได้ปกครองกรุงอโยธยา เมื่อปกครองแล้วข้าราชบริพาร ทหาร เสนา อำมาตย์ต่างๆ ไม่พอใจในพระนาง ก็เลยคิดการจับพระนางจามเทวี และสถาปนาราชวงศ์ลูกหลานของพระเจ้าแผ่นดินองค์เดิมขึ้นครองกรุงอโยธยาแทน
ส่วนพระนางจามเทวีนี้ก็ถูกเนรเทศให้ไปครองเมืองที่ไกล พระนางได้ไปอยู่ที่เมืองลำพูน แต่เรียก”หริพุญชัย” พระนางได้ประสูติพระโอรสเป็นฝาแฝด 2 คนด้วยกัน เมื่อประสูติพระโอรสแล้ว พระนางจามเทวีก็คิดจะสร้างอะไรขึ้นมาสักอย่างหนึ่งเพื่อเป็นอนุสรณ์ ก็เลยสร้างเจดีย์ใหญ่ขึ้นที่เมืองหริภุญไชย (ปัจจุบันเรียกว่าเจดีย์หริภุญไชย) เจดีย์นี้เป็นเจดีย์คู่บ้านคู่เมืองของเมือง หริพุญชัย (ปัจจุบันคือ เมืองลำพูน) ส่วนพระโอรส 2 พระองค์เมื่อเจริญวัยขึ้นมา พระนางส่งโอรสขึ้นทางทิศตะวันออก และสร้างเมืองขึ้นคือ “เมืองเขลางนคร (ปัจจุบันคือ ลำปาง)”
จากตำนานเรื่องนี้วิเคราะห์ได้ว่า พระนางจามเทวีจะต้องเป็นคนเก่งและเป็นที่เลื่องลือของประชาชนมาก จึงได้เล่าสืบต่อกันมาว่าพระนางจามเทวีเป็นกษัตริย์หรือเจ้าเมืองที่ครองกรุงโบรารณซึ่งเป็นผู้หญิงที่เก่ง แต่ตัวพระนางเองก็ได้ถูกกบฏหรือถูกจับตัวให้ไปครองเมืองอื่น เจ้าเมืองรามปุระ ซึ่งเป็นที่ถกเถียงกันทางประวัติศาสตร์ว่าเป็นเมืองใดแน่ แต่คนกรุงเก่าหรืออยุธยาดั้งเดิมซึ่งเป็นคนเฒ่าแก่บอกว่า พระนางเป็นกษัตริย์ผู้หญิงของอโยธยาเดิมซึ่งมีมาก่อนกรุงศรีอยุธยา
แง่คิดของนิทาน
นิทานเรื่องนี้เป็นนิทานพื้นบ้านหรือเรื่องโบราณ …เป็นตำนานของกรุงอโยธยาและเกี่ยวข้องกับเจดีย์หริภุญไชย เป็นความภูมิใจของคนเก่าๆ แก่ๆว่า …หริภุญไชยเจดีย์ใหญ่นั้น คนอยุธยาเป็นคนสร้างขึ้นมา

  • นิทานพื้นบ้านไทย เรื่องตำนานขนมครก

นิทานพื้นบ้านไทย เรื่องตำนานขนมครก
ไอ้กะทิ หนุ่มน้อยแห่งดงมะพร้าวเตี้ย แอบมีความรักกับ หนูแป้ง สาวสวยประจำหมู่บ้านซึ่งเป็นลูกสาวคนเดียวของผู้ใหญ่บ้าน ทั้งคู่เจอกันวันลอยกระทง และสัญญากันต่อหน้าพระจันทร์ ไม่ว่าข้างหน้าแม้จะมีอุปสรรคขวางกั้นเพียงใด ทั้งคู่ก็จะขอยึดมั่นความรักแท้ที่มีต่อกันชั่วฟ้าดินสลาย
ไอ้กะทิ ก้มหน้าก้มตาเก็บหอมรอมริบหาเงินเพื่อมาสู่ขอลูกสาวจากผู้ใหญ่บ้าน แต่กลับถูกปฏิเสธแถมยังโดนผู้ใหญ่ส่งชายฉกรรจ์พร้อมอาวุธครบมือมาลอบทำร้าย แต่ไอ้กะทิก็ไม่ว่ากระไร มันพาร่างอันสะบักสะบอมกลับไปบ้าน นอนหยอดน้ำข้าวต้มซะหลายวัน แต่ใจยังตั้งมั่นว่า วันหน้าจะมาสู่ขอหนูแป้งใหม่จนกว่าผู้ใหญ่จะใจอ่อน
ไอ้กะทิ ก็พังพินาศเมื่อผู้ใหญ่ยก หนูแป้ง ลูกสาวคนสวยให้แต่งงานกับปลัดหนุ่มจากบางกอก ไอ้กะทิ รู้ข่าวจึงรีบกระเสือกกระสนหมายจะมายับยั้งการแต่งงานครั้งนี้ ซึ่งผู้ใหญ่บ้านก็วางแผนป้องกันไว้แล้ว โดยขุดหลุมพรางดักรอไว้ แต่แม่แป้งแอบได้ยินแผนร้ายเสียก่อน จึงลอบหนีออกมาหมายจะห้ามหนุ่มคนรักไม่ให้ตกหลุมพราง
คืนนั้นเป็นคืนเดือนแรม หนูแป้งวิ่งฝ่าความมืดออกมาเพื่อดักหน้าไอ้กะทิ ไอ้กะทิเห็นหนูแป้งวิ่งมาก็ดีใจทั้งคู่รีบวิ่งเข้าหากัน ฉับพลัน!!…ร่างของหนูแป้งก็ร่วงหล่นลงไปในหลุมพรางของผู้ใหญ่ฯผู้เป็นพ่อ ต่อหน้าต่อตาไอ้กะทิ อารามตกใจนายกะทิก็รีบกระโดดตามลงไปเพื่อช่วยเหลือหนูแป้ง อารามดีใจสมุนชายฉกรรจ์ของผู้ใหญ่บ้านซึ่งแอบซุ่มอยู่ ก็รีบเข้ามาโกยดินฝังกลบหลุมที่ทั้งคู่หล่นลงไป เพราะคิดว่าในหลุมมีเพียงไอ้กะทิผู้เดียว …
รุ่งเช้าผู้ใหญ่บ้านสั่งให้ขุดหลุมเพื่อดูผลงาน แทบไม่เชื่อสายตาเบื้องล่างปรากฏร่างของ ไอ้กะทิตระกองกอดทับร่างหนูแป้งลูกสาวของตน ทั้งสองนอนตายคู่กันอย่างมีความสุข เมื่อรอยยิ้มถูกเปลี่ยนเป็นน้ำตา ผู้ใหญ่บ้านรำพึงต่อหน้าศพของลูกสาวว่า..
พ่อไม่น่าคิดทำลายความรักของลูกเลย
ตั้งแต่นั้นมาอนุสรณ์แห่งความรักที่กระทำสืบทอดกันมาจนเป็นประเพณี ทุกแรม ๖ ค่ำ เดือน ๖ ชาวบ้านที่ศรัทธาในความรักของไอ้กะทิ กับ แม่แป้ง ก็จะตื่นตั้งแต่เช้ามืด เข้าครัวเพื่อทำขนมที่หอมหวานปรุงจากแป้ง และกะทิ บรรจงหยอดลงหลุม พอสุกได้ที่ก็แคะจากหลุม แล้วนำมาวางคว่ำหน้าซ้อนกันเป็นสัญลักษณ์ว่า “จะได้อยู่ร่วมกันตลอดไป” ขนมนี้จึงถูกเรียกขานกันในนาม “ขนมแห่งความรัก” หรือ ขนม คน-รัก-กัน ต่อมาถูกเรียกย่อ ๆ ว่า ‘ขนม ค-ร-ก‘ นั่นเอง

  1. นิทานพื้นบ้านภาคเหนือ เรื่องสองสัตว์

ในกาลก่อนมีสัตว์สองตัวเป็นเพื่อนกัน …เวลาไปหากินหรือไปในที่ใดๆ มักจะไปด้วยกันเสมอสัตว์คู่นี้ได้แก่ บ้วน (นาก) กับกระต่าย …มันหากินอยู่ตามริมฝั่งน้ำปิงเป็นประจำ
นิทานพื้นบ้านภาคเหนือ เรื่องสองสัตว์
อยู่มาวันหนึ่ง นากออกไปหากิน มองเห็นช่องว่างคิดว่าเป็นทางน้ำจึงว่ายเข้าไป พอเข้าไปแล้วปรากฏว่าไปชนสายใยประตูกะต้ำ (เครื่องดักจับปลาชนิดหนึ่งที่ทำไว้ตามข้างตลิ่ง หันหน้าล่องใต้ พอปลาตัวโตเข้าไปเมื่อชนสายใย สลักจะหยุด ประตูจะเลื่อนตกลงมาปิดไว้ทันที ทำให้ปลาออกไม่ได้) …นากพยายามหาทางออก แต่ทำอย่างไรก็ออกไม่ได้ มันร้องขอให้กระต่ายช่วย …กระต่ายลงมาดูเห็นกะต้ำแน่นหนาเกินกว่ากำลังน้อยๆ ของตนจะรื้อหรือทำลายได้
ขณะนั้นพอดีนายพรานผู้วางกะต้ำ จึงตรงเข้าไปดูเห็นนากติดอยู่ก็ดีใจ …ส่วนกระต่ายเห็นคนเดินมาจึงหลบซ่อนตัวนิ่งอยู่ข้างๆ กอหญ้า …นากพอเห็นนายพรานเปิดประตูกะต้ำออก มันแกล้งทำเป็นตาย กลั้นลมหายใจ เบ่งท้องให้พองคล้ายกับตายมานานแล้ว …เมื่อกระต่ายแลเห็นนายพรานจับเพื่อนของตนขึ้นมาเช่นนั้น …กระต่ายจึงกระโดดออกมา และดิ้นรนกระเสือกกระสนคล้ายกับถูกตีหรือถูกยิง แล้วนอนนิ่งบนหาดทรายห่างจากกะต้ำไม่ไกลนัก …
นายพรานมองเห็นกระต่ายมานอนดิ้นตาย ดีใจรีบขึ้นจากน้ำ …วางนากลงกับพื้น วิ่งตรงเข้าไปเพื่อจะจับกระต่ายอีกตัว …นากพอเป็นอิสระจึงกระโดดลงน้ำหนีไป …กระต่ายเห็นเพื่อนของตนหนีลงน้ำไปได้รีบลุกขึ้นกระโดดวิ่งหายเข้าป่าไป …ตกลงนายพรานไม่ได้สัตว์อะไรเลยแม้แต่ตัวเดียว!!
• “กะต้ำ” เป็นเครื่องจับปลาโดยกั้นเป็นคอก มีประตูสำหรับปลาว่ายเข้าไป เมื่อปลาชนสายใยประตูจะปิดลง
• “นาก” เป็นสัตว์สี่เท้าชนิดหนึ่ง อาศัยอยู่ด้วยกันเป็นฝูง ๆ เที่ยวหากินปลาในน้ำ
นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า
1. คนที่มีสติปัญญา…ย่อมเอาตัวรอดได้เสมอ
2. โลภมาก…ลาภหาย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น